Wörner, Manfred Hermann (1934–1994)

นายมันเฟรด แฮร์มันน์ เวอร์เนอร์ (พ.ศ. ๒๔๗๗–๒๕๓๗)

 มันเฟรด แฮร์มันน์ เวอร์เนอร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตก ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๒–๑๙๘๘ เป็นนักกฎหมายและนักการเมืองเยอรมันสังกัดพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตยหรือซีดียู (Christian Democratic Union–CDU)* เขามีบทบาทสำคัญด้านการทหารและความมั่นคงของเยอรมนีตะวันตกใน ค.ศ. ๑๙๘๓ เวอร์เนอร์ผลักดันให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง (intermediate-range ballistic missiles–IRBM) ในยุโรปตะวันตก บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้เวอร์เนอร์ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการองค์การนาโตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๘–๑๙๙๔

 เวอร์เนอร์เกิดในครอบครัวโปรเตสแตนต์เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ที่บาดคานน์ชตัทท์ (Bad Cannstatt) เมืองเล็กๆซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองชตุทท์การ์ท (Stuttgart) เมืองหลวงของรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์ก (Baden-Württemberg) คาร์ลเวอร์เนอร์(Carl Wörner) บิดาเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนแคลเรอ เวอร์เนอร์ (Kläre Wörner) มารดาทำงานหลายแห่งในหน่วยงานของกองทัพที่เกี่ยวข้องกับองค์การสิทธิมนุษยชน เขาเข้าศึกษาที่โรงเรียนโยฮันเนสเคพเลอร์ จิมนาเซียม (Johannes-Kepler-Gymnasium) จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายใน ค.ศ. ๑๙๕๓ จากนั้นเวอร์เนอร์ศึกษาวิชากฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองไฮเดิลแบร์ก (Heidelberg) กรุงปารีส (Paris) และเมืองมิวนิก (Munich) ตามลำดับเขาได้เป็นเนติบัณฑิตใน ค.ศ. ๑๙๖๑ ในปีเดียวกันเวอร์เนอร์ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองมิวนิก โดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “Strafgerichtsbarkeit über Truppen bei einverständlichem Aufenthalt auf fremdem Staatsgebiet” (การพิจารณาโทษทางอาญาของกองทัพในดินแดนต่างประเทศ)

 ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ เวอร์เนอร์ทำงานกับสมาชิกพรรคซีดียูในรัฐสภาแห่งรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์กเขาเป็นสมาชิกพรรคนี้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๓ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๕ เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคซีดียู และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกันหลายสมัยจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๘ นอกจากงานทางการเมืองแล้ว เวอร์เนอร์สนใจงานด้านการทหารและใน ค.ศ. ๑๙๖๖ ได้เข้าร่วมฝึกทหารกับกองทัพอากาศและทำงานในกองทัพสำรองจนได้เป็นนาวาอากาศโทใน ค.ศ. ๑๙๗๗ ในด้านชีวิตส่วนตัวเวอร์เนอร์แต่งงานกับอันนา มารีอา เซซาร์ (AnnaMaria Caesar) นักหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นบุตรสาวของนายทหารอากาศเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ แต่ชีวิตคู่ก็ไม่ราบรื่นและจบลงด้วยการหย่าร้างใน ค.ศ. ๑๙๘๒ เขาแต่งงานใหม่อีกครั้งกับเอลฟี ฮาร์ทวิก ไรนช์ (Elfie Hartwig Reinsch)

 ในรัฐสภา เวอร์เนอร์ดำรงตำแหน่งรองประธานของกลุ่มสมาชิกพรรคซีดียูระหว่างค.ศ. ๑๙๖๙–๑๙๗๒ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาอุทิศตนให้กับการสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่โดยทำหน้าที่จัดอบรมคนหนุ่มสาวให้กับสถาบันอบรมการเมืองไอช์โฮลซ์ (political academy Eichholz) ซึ่งเป็นสถาบันผลิตนักการเมืองของพรรคซีดียู และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๒–๑๙๘๘ เวอร์เนอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานของสถาบันนอกจากนั้นเขายังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านการทหารและการป้องกันประเทศในรัฐสภาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๖–๑๙๘๐ ด้วย

 ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ เมื่อเฮลมุท ชมิดท์ (Helmut Schmidt)* ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (German Social Democratic Party)* ถูกรัฐสภาเยอรมันลงมติไม่ไว้วางใจ เฮลมุท โคห์ล (Helmut Kohl)* ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๘ โคลแต่งตั้งเวอร์เนอร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อ วันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๘๓ เวอร์เนอร์มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนองค์การนาโตให้ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในยุโรปตะวันตกซึ่งมีวิถีการยิงอยู่ที่ระยะ ๑,๐๐๐–๕,๕๐๐ กิโลเมตรเพื่อตอบโต้การติดตั้งขีปนาวุธรุ่นเอสเอส ๒๐ เซเบอร์ (SS-20 Saber) ของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๗๖ ที่มีวิถีการยิงอยู่ในระยะที่ใกล้เคียงกัน การติดตั้งขีปนาวุธขององค์การนาโตครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจรจาลดอาวุธที่ล้มเหลวระหว่างองค์การนาโตกับสหภาพโซเวียต ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๑–๑๙๘๒ ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในช่วงสงครามเย็น (Cold War)* เวอร์เนอร์ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนขีปนาวุธที่โซเวียตครอบครอง รวมถึงการติดตั้งขีปนาวุธเพิ่มในยุโรปตะวันออกของสหภาพโซเวียตในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๘๓ เขาให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนเยอรมันว่า ฮันส์ อาเพิล (Hans Apel) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมัน (ค.ศ. ๑๙๗๘–๑๙๘๒) ที่กล่าวว่าการสะสมอาวุธของสหภาพโซเวียตไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อเยอรมนีตะวันตกแต่อย่างใดนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

 ใน ค.ศ. ๑๙๘๓ เวอร์เนอร์มีคำสั่งให้พลเอกกึนเทอร์ คีสลิง (Günter Kiessling) ผู้บัญชาการกองทัพบกขององค์การนาโตซึ่งเป็นชาวเยอรมันให้เกษียณอายุก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลว่าพลเอก คีสลิงมีแนวโน้มชอบเพศเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะหากสหภาพโซเวียตหรือผู้ประสงค์ร้ายอื่นทราบก็อาจจะนำประเด็นดังกล่าวมาข่มขู่พลเอก คีสลิงทางใดทางหนึ่งได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะใน ค.ศ. ๑๙๘๓ เป็นช่วงที่องค์การนาโตได้ตัดสินใจติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในยุโรปตะวันตกแล้ว พลเอก คีสลิงต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนเองและมีชัยชนะเพราะข้อกล่าวหาของเวอร์เนอร์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เขาจึงกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมในวันที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๔ เวอร์เนอร์ยอมรับผิดด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่โคลปฏิเสธการลาออกของเขา

 ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๗ เวอร์เนอร์ได้รับเลือกจากภาคีสมาชิก ๑๖ ประเทศขององค์การนาโตให้เป็นเลขาธิการขององค์การสืบต่อจากปีเตอร์ คาริงตัน (Peter Carington) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ (ค.ศ. ๑๙๗๙–๑๙๘๒) เขาจึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ และเข้ารับตำแหน่งใหม่ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ เวอร์เนอร์เป็นเลขาธิการคนที่ ๗ ขององค์การนาโต และนับเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ เหตุการณ์สำคัญในช่วงการดำรงตำแหน่งของเขาคือ การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก การพังทลายกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* การรวมเยอรมนีตะวันออกเข้ากับเยอรมนีตะวันตก และการสิ้นสุดของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๙๑

 มันเฟรด แฮร์มันน์ เวอร์เนอร์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งลำไส้ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การนาโต ที่บ้านพักประจำตำแหน่ง ณ กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๔ รวมอายุ ๖๐ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ กระทรวงกลาโหมเยอรมันได้จัดทำเหรียญมันเฟรด เวอร์เนอร์ (Manfred Wörner Medal) เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่เขา และมอบให้แก่ผู้ที่ทำคุณงามความดีเพื่อสันติภาพและเสรีภาพของยุโรปบุคคลแรกที่ได้รับเหรียญเกียรติยศนี้คือริชาร์ดโฮลบรุค (Richard Holbrooke) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำเยอรมนีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๓–๑๙๙๔ เนื่องจากการมีส่วนทำให้สงครามบอสเนีย (Bosnian War)* ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ด้วยข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน (Dayton Peace Agreement).



คำตั้ง
Wörner, Manfred Hermann
คำเทียบ
นายมันเฟรด แฮร์มันน์ เวอร์เนอร์
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- กำแพงเบอร์ลิน
- ข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน
- โคห์ล, เฮลมุท
- ชมิดท์, เฮลมุท
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- เวอร์เนอร์, มันเฟรด แฮร์มันน์
- สงครามบอสเนีย
- สงครามเย็น
- สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
- สหภาพโซเวียต
- เอสเอ
- เอสเอส
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1934–1994
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๗๗–๒๕๓๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-